เมื่อรุ่นพี่ทั้ง 3 ฟังเพลงของน้องใหม่เป็นครั้งแรก

ไปฟังความรู้สึกของพี่ใหญ่ในวงการดนตรีทั้ง 3 อย่าง พี่กรด มัติโก พี่ริด วราฤทธิ์ มังคลานนท์ และ พี่วิภว์ บูรพาเดชะ หลังจากได้ฟังบทเพลงจากศิลปินทั้ง 5 ในโปรเจกต์ New Kids in The Boxx เป็นครั้งแรก

กรด มัติโก
บรรณาธิการนิตยสาร The Guitar Mag

…เปิดกว้าง รับฟัง เพื่อตามให้ทันโลก

“ผมมักจะบอกกับน้องๆ ที่ทำงานเสมอว่า ถ้าเราทำงานด้านนี้เราต้องเปิดรับเพลงใหม่ๆ แม้จะไม่ตรงกับความชอบของเรา เราก็ต้องฟังเขา เพื่อจะได้รู้ว่าวงการไปถึงไหนกันแล้ว ทุกวันนี้ก็มักจะมีน้องๆ ส่งเพลงมาให้ฟังมากมายและทำได้น่าสนใจมาก เพลงของเด็กรุ่นใหม่ๆ มีซาวด์ที่แปลก และมีแนวคิดในการเขียนเพลงที่แตกต่างจากเพลงไทยยุคก่อนๆ คนทำเพลงรู้จักที่จะผสมผสานดนตรีเก่ากับไอเดียใหม่ๆ จนกลายเป็นเพลงที่มีสไตล์ใหม่ๆ ออกมาสร้างสีสันให้กับวงการ”

“เมื่อเราสามารถทำเพลงในห้องนอนของตัวเองก็ยังได้ ยุคนี้จึงเป็นยุคที่เพลงเฟื่องฟูมากๆ คนฟังก็เลยได้เปรียบ มีตัวเลือกเยอะ แม้จะไม่เอื้อให้เกิดไอดอลอย่างยุคก่อน แต่สมัยนี้เรามีช่องทางมากมายที่สามารถใช้เผยแพร่ผลงาน และสร้างแฟนคลับของเราได้ ไม่ต้องเป็นศิลปินใหญ่ๆ แต่เราก็มีกลุ่มแฟนคลับจำนวนหนึ่งที่คอยติดตามผลงานอยู่ ศิลปินยุคนี้จึงมีโอกาสเกิดมากกว่าเมื่อก่อน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคที่ศิลปินมีอิสระในการทำเพลงอย่างแท้จริง”

///

วราฤทธิ์ มังคลานนท์
ดีเจ คลื่น แคท เรดิโอ

ความดี 3 อย่างกับมาตรฐานการตัดสินเพลง …

“เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าเราชอบเพลงไหน เพลงนั้นคือเพลงที่ดี แต่เคยไปฟังพี่ปุ้ม (พงษ์พรหม สนิทวงศ์ – อดีตสมาชิกวงแมคอินทอชและตาวัน) พูดแล้วเปลี่ยนความคิดผมไปเลย เขาบอกว่า การวัดเพลงมีอยู่สามแบบ
1. ดีกับตัวคนแต่ง คือแต่งแล้วเขาชอบเพลงนั้นเหลือเกิน
2. ดีกับคนฟัง คือคนฟังแล้วชอบ
3. ดีกับสังคม ทำเพลงนั้นแล้วมีส่วนช่วยเหลือสังคม
กลายเป็นใช้ 3 ดีเป็นมาตรฐานเวลาฟังเพลง คือความดีรอบด้าน ดีสักหนึ่งด้านก็เรียกว่าดี ไม่ใช่ดีแบบเด็กๆ ที่คิดว่ามันดีของเราคนเดียว แต่ส่วนใหญ่เราจะไม่ค่อยบอกว่าเพลงดีหรือไม่ดี แค่ชอบหรือไม่ชอบเท่านั้นก็จบแล้ว”

“สมัยเป็นดีเจใหม่ๆ เราเปิดแต่เพลงที่ตัวเองชอบ (หัวเราะ) เราเห็นแก่ตัว คิดว่าเพลงที่เราฟังดีที่สุด แต่พอโตมา โลกเรากว้างขึ้น กว้างจากเพลงที่ฟังมากขึ้น กว้างจากหน้าที่การงานที่ต้องฟังเยอะกว่าคนอื่น พอยุคโซเชียลก็กว้างจากฟีดแบ็กของคนฟัง จากเพื่อนๆ นักดนตรี หรือดีเจที่เขาแชร์เพลงมา เลยเปิดเพลงได้หลากหลายมากขึ้น เริ่มเห็นแง่ดีของเพลงต่างๆ อย่างตอนเด็กๆ ไม่ชอบเพลงคนผิวสี เพลงฮิปฮอป เพลงฟังก์จะไม่ฟังเลย เพราะพื้นฐานมาจากความเศร้า เราคิดว่าฟังความสุขแล้วไม่สดใส แต่พอคุยกับคนอื่น ได้รู้ว่าเขาชอบเพลงนั้นเพราะอะไร พอมาฟังตาม ก็เกิดความชอบตามไปด้วย

///

วิภว์ บูรพาเดชะ
บรรณาธิการนิตยสาร Happening

ติเพื่อก่อ ไม่ใช่ด่าเพื่อความสะใจ …

“ถ้าเป็นการฟังเพลงโดยส่วนตัวจะชอบเพลงประเภท Singer songwriter ที่คนเขียนเพลงร้องเพลงเอง เวลาฟังก็เลยจะชอบดูที่เนื้อร้องเป็นอันดับแรก ส่วนดนตรีจะไม่ค่อยซีเรียสเท่าไหร่ แต่เมื่อเรามาเป็นนักวิจารณ์ ก็จะพยายามบาลานซ์ให้ครบทั้ง 3 องค์ประกอบ คือ เนื้อร้อง ทำนอง และการเรียบเรียง ซึ่งแต่ละเพลงก็จะให้น้ำหนักในแต่ละองค์ประกอบไม่เท่ากัน เวลาวิจารณ์เพลงในฐานะสื่อมวลชน เราเชื่อว่าถ้าจะต้องตัดสินว่าเพลงไหนดีหรือไม่ดีก็ควรจะเป็นการติเพื่อก่อหรือแนะนำเพื่อการพัฒนามากกว่าตั้งใจด่าอย่างเดียว ต่อให้เป็นเพลงที่เราไม่ชอบ ก็พยายามหยิบแง่มุมที่ดีของมันออกมา เพราะเชื่อว่าทุกเพลงมีแง่ที่ดีให้พูดถึง”

“อย่างช่วงหลังพองานเริ่มยุ่งขึ้นก็จะฟังเพลงใหม่ๆ น้อยลง แต่พอเริ่มมีเวลาว่างก็จะมาไล่เปิดฟังในยูทูปซะหน่อย เพื่อที่จะได้รู้ว่าเด็กรุ่นใหม่กำลังสนใจเรื่องอะไรกันอยู่ แล้วเดี๋ยวนี้มีเพลงของเด็กรุ่นใหม่ให้ฟังเยอะเหมือนเป็นทะเลเพลงเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากนะ เพราะเพลงทำง่าย หลายคนทำเพลงในห้องนอน เสร็จแล้วปล่อยเป็นเอ็มวีในยูทูบ แค่นั้นก็เป็นศิลปินได้แล้ว แต่ถึงจะทำเพลงได้ง่าย แต่ถ้าจะทำให้ประสบความสำเร็จยากกว่ายุค 80-90 เยอะเลยนะ พอคนทำเพลงเยอะ คู่แข่งก็เยอะตามไปด้วย เพราะฉะนั้นนอกจากเพลงใหม่ๆ เรายังได้ฟัง ได้เห็นความพยายามของเด็กรุ่นใหม่ไปพร้อมๆ กันด้วย”

เพลง โอ้ว – The Kayei (เดอะ คาเย)

 

กรด: เพลงสไตล์อัลเทอร์เนทีฟร็อคแบบนี้ ทำให้นึกถึงดนตรีที่ฮิตกันในยุค 90’s ถือว่าเป็นเพลงที่สนุกสนาน อยากชื่นชมว่าทำเพลงได้ติดหูดี โดยเฉพาะท่อนริฟกีต้าร์ ถ้าเป็นคนที่สนใจกีต้าร์ยุคใหม่ ที่เน้นการสับคอร์ดแบบกระชับ มีท่อนโซโลสั้นๆ ก็น่าจะชอบฟังเพลงนี้ แต่เสียดายตรงที่เนื้อหาของเพลงเป็นความรักกวนๆ ของวัยรุ่น แต่เสียงร้องดูตั้งใจให้เพราะเกินไปหน่อย อยากให้ร้องเสียงกวนๆ ไปเลย จะทำให้เพลงมันส์มากขึ้น

ริด:  จริงๆ เพลงนี้เป็นเพลงอัลเทอร์เนทีฟ แล้วเอากลิ่นอายของพังก์เข้ามาผสม ในยุคก่อนพังก์คือเรื่องของการต่อต้านสังคมแบบรุนแรง แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็ไม่จำเป็นต้องดิบเถื่อนแล้ว พังก์ในเพลงนี้เลยกลายเป็นความซ่า ความเปรี้ยว แล้วก็ผสานความป็อบเข้าไปในเนื้อหา เสน่ห์ของเพลงนี้จึงเป็นเรื่องของความสดใส แบบวัยรุ่นปิ๊งสาวข้างโรงเรียน ที่ใช้ซาวด์ที่แฝงอารมณ์ขบถเป็นส่วนที่สื่อถึงอารมณ์พลุ่งพล่านของวัยมัธยม เด็กที่อยู่ในวัยนั้นน่าจะชอบ แต่ถ้าถามว่าเราอินมั้ย ก็คงต้องบอกว่า เราเลยวัยจีบสาวไปแล้ว (หัวเราะ)

วิภว์: เพลงนี้มันมีความเป็นวัยรุ่นมากเลยนะ ตอนที่ฟังเห็นภาพเด็กมัธยมลอยมาเลย เป็นเพลงเน้นความสนุก เอาไว้จีบสาวของเด็กผู้ชายที่มีฮอร์โมนพลุ่งพล่านขึ้นมา  ถ้าถามว่าดีหรือไม่ดี เราว่ามันก็ตอบโจทย์ตามเป้าประสงค์ของมัน ชอบตรงที่มันมีงานกีต้าร์เยอะดี ถ้าย้อนกลับไปสมัยเรียนมัธยมก็คิดว่าน่าจะชอบเพลงนี้ คิดว่าเด็กมัธยมที่เรียนโรงเรียนชายล้วนจะต้องถูกใจเพลง “โอ้ว” แน่นอน

///

เพลง เดินออกมาจากฝัน – โบ๊ต ธานิศ

 


กรด:
ถือว่าเป็นเพลงที่มีคอนเซปต์แข็งแรงมาก ใช้ดนตรีน้อยๆ ใส่เอฟเฟกต์เสียงร้องให้ดูลอยๆ มีการใช้เสียง ambient กับเสียงสังเคราะที่โดดเด่นออกมา สะท้อนเนื้อหาของเพลงได้ดี โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นเพลงเปิดตัวที่น่าสนใจ ก็อยากให้กำลังใจสำหรับซิงเกิ้ลถัดไป

ริด: เรารู้จักน้องโบ๊ด ธานิศ นักร้องเพลงนี้อยู่แล้ว เขาเป็นพนักงานออฟฟิศแต่มีความฝันว่าอยากทำเพลงของตัวเอง ซึ่งฟังเพลงนี้แล้วก็รู้สึกเหมือนอยู่ในความฝันจริงๆ ต้องชมที่ทำซาวด์ออกมาได้ตรงตามเนื้อหา แล้วสไตล์เพลงเป็นแบบที่เราชอบเป็นการส่วนตัว คือเป็นเพลงที่มีซาวด์แบบอังกฤษหน่อยๆ มีเมโลดี้สวยๆ เสียงกรุ๊งกริ๊งฟรุ้งฟริ้งเยอะๆ ฟังแล้วมันเรียบๆ ง่ายๆ สบายดี  ไม่ได้มีท่อนที่มัน catchy เพื่อตั้งใจจะให้แมส

วิภว์: เพลงนี้ดีที่อีโมชั่น ทั้งเนื้อร้อง การร้อง และดนตรี มีความเป็นเอกลักษณ์และความเท่อยู่ในเพลง แต่เนื้อร้องกับเมโลดี้ยังคมได้มากกว่านี้อีกนิดนึง รู้สึกว่าเมโลดี้ยังไม่ค่อยติดหูเท่าไหร่ ส่วนเนื้อเพลงระหว่างทางจะค่อยๆ บิ้วท์ขึ้นมาเรื่อยๆ จนไปถึงไฮไลท์ในช่วงท้ายๆ ที่ทำให้เรามีความสุขขึ้นมาได้จริงๆ แล้วการจบเพลงด้วยประโยคที่เหมือนชื่อเพลง ก็ยิ่งทำให้เพลงมีชั้นเชิงมากขึ้น

///

เพลง เพลงป้ายรถเมล์ – Yellow Lips

 

กรด: เพลงนี้สนุกตั้งแต่ชื่อเพลง การเอาเพลงรักโรแมนติกมาเล่าผ่านป้ายรถเมล์นี่น่าสนใจดีนะ ดนตรีเรียบๆ ไม่มีอะไรมาก แต่สิ่งที่มีเสน่ห์ที่สุดของของเพลงนี้อยู่ที่การร้องประสานเสียง ไม่รู้ว่าเขาดัดเสียง ตั้งใจ หรือว่าเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่มันทำให้ดู 70 มากเลยนะ นึกไปถึงพวกเหมือนพวกเดอะ คาร์เพนเตอร์ แล้วเสียงเพราะทั้งผู้ชาย ผู้หญิงเลย ประสานกันได้ดีไม่มีเสียงของใครแย่งหรือว่านำใคร เป็นจุดแข็งของเพลงนี้เลย

ริด: เพลงนี้ชอบมาก เป็นเพลงฟีลกู๊ด ที่ฟังแล้วทำให้มองโลกในแง่บวก เรานึกถึงเพลงป็อบของไทยในยุค 80 ถ้ายังไม่เห็นตัวนักร้องจะนึกว่าเป็นคนที่มีอายุด้วยซ้ำ เพราะด้วยเนื้อเพลงที่มีภาษาสวยๆ และน้ำเสียงที่ทำให้นึกถึงนักร้องอย่าง อุ้ย รวิวรรณ จินดา เลยคิดว่าคนที่ชอบเพลงนี้น่าจะเป็นคนที่เกิดทันเพลงในยุคนั้น หรือถ้าเป็นเด็กยุคนี้ก็น่าจะเป็นคนที่ชอบเพลงที่มีกลิ่นอายแบบเก่าๆ มีเสียงร้องที่ฟังแล้วชวนให้รู้สึกดี

วิภว์: ชอบเพลงนี้ที่สุดในบรรดา 5 เพลงที่ฟังมา เพราะรู้สึกว่ามันแปลกดี ไม่ค่อยมีเพลงที่ผู้ชายกับผู้หญิงร้องคู่กัน ทำให้นึกถึงเพลงอินดี้ในสมัย 10-15 ปีที่แล้ว แล้วเสียงของผู้หญิงมีพลังและเพราะมาก มีความกวนนิดๆ แล้วยังเป็นเสียงที่สวยไปพร้อมๆ กันด้วย คือฟังแล้วอยากเห็นหน้าเลย ส่วนเนื้อเพลงที่พูดเรื่องการนั่งรถเมล์แล้วทำให้มันโรแมนติก เป็นอะไรที่เราไม่เคยเห็นใครพูดถึงในมุมนี้ ก็ถือว่าหลุดมาจากตลาดมาก มีเอกลักษณ์มาก คนที่ชอบเพลงนี้น่าจะเป็นเด็กที่ดูอาร์ตๆ หน่อย อย่างเด็กสถาปัตย์ฯ นิเทศฯ หรือพวกที่เรียนครุฯ อาร์ต คนที่อ่าน Happening ก็น่าจะชอบ

///

เพลง ครั้งสุดท้าย – บีน นภสร

 

กรด: ในบรรดา 5 เพลง เราชอบเพลงนี้มากที่สุด รู้สึกว่าเสียงนักร้องเท่ มีเสน่ห์ ถือว่าเป็นคนที่น้ำเสียงมีเอกลักษณ์มาก ไม่ต้องมีดนตรีก็ยังสามารถฟังไปได้เรื่อยๆ เลย ส่วนดนตรีเน้นให้ฟังเพลินๆ มีความเป็นอาร์แอนด์บี โยกตามจังหวะได้ แล้วก็มีเครื่องเป่าตามสไตล์ดนตรีโซลใส่เข้ามา ซึ่งลงตัวกับอารมณ์ของเพลงพอดี เหมาะกับการฟังตอนก่อนเข้านอน ยิ่งตอนจิบเบียร์เวลาฝนตก จะได้ฟีลสุดๆ

ริด: เพลงนี้เสียงนักร้องนำมาเลย เสียงดีแน่นอน ถึงดนตรีจะเรียบๆ แต่ก็ทำซาวด์ได้ดี ฟังลื่น  ส่วนเนื้อเพลงก็ทำหน้าที่ในการเล่าเรื่องของผู้หญิงที่เสียใจกับความรักได้ดีอยู่แล้ว ในบรรดาทุกเพลงของ New Kids in the Boxx เพลงนี้น่าจะเป็นเพลงที่ป็อบที่สุด แมสที่สุด เพราะดนตรีแนวโซลเป็นดนตรีที่คนไทยรับง่าย เพราะเป็นเพลงที่เราคุ้นเคยกันมานานแล้ว

วิภว์: ถึงแม้สตอรี่ในเพลง จะเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคย และไม่ได้แปลกมาก แต่การเรียบเรียงซาวด์โดยรวมของเพลงทำได้ดี ไม่ป็อบเกินไป มีการทำให้เพลงดูน่าสนใจมากขึ้นด้วยการใส่เสียงดนตรีที่ไม่ค่อยได้ยินบ่อยๆ อย่าง ออร์แกน เครื่องเป่า ส่วนที่ชอบมากในเพลงนี้คือเสียงนักร้อง เสียงสวยมาก เพราะเป็นเพลงอาร์แอนด์บีที่ต้องโชว์ลีลา ซึ่งน้องทำได้ดีเลย มีลูกเล่นในการร้อง เพลงแบบนี้น่าจะเหมาะกับผู้หญิงที่ทันสมัย อาศัยอยู่ในเมือง เป็นเฟิร์สจ็อบเบอร์ ที่กำลังอินกับเรื่องราวประมาณนี้

///

เพลง โลกหมุน – ฟ้อนเล็บ เจ็บมาเยอะ

 

กรด: ชอบครับ ดนตรีดีมาก ให้คะแนนเต็มไปเลย เนื้อเพลงพูดประมาณว่า อยากให้โลกหมุนกลับมาให้เราได้เจอกัน ก็ออกแบบซาวด์ให้มีเสียงฟุ้ง ลอยๆ เหมือนคนฟังได้มองเห็นโลกกำลังหมุนอยู่ในอวกาศจริงๆ แล้วเป็นเพลงอกหักที่มีเนื้อหาน่ารัก คือถึงจะเลิกกันไปแล้วก็เลิกกันยิ้มๆ ไม่ช้ำเท่าไหร่ เสน่ห์อีกอย่างของเป็นนี้คือศิลปินที่ชื่อฟ้อนเล็บ ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าเขาเป็นใครกันแน่

ริด: เป็นเพลงที่ตรงจริตของเรามากที่สุด ฟังแล้วนึกถึงดนตรีป๊อบของอังกฤษในช่วงปลาย 80-90 ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไทย ที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ปกติเราจะเป็นคนที่ชอบฟังดนตรีก่อนเสียงร้อง เพลงที่โดดเด่นในเรื่องดนตรีอย่าง โลกหมุน ก็เลยเป็นเพลงที่ชอบมากที่สุดในแง่ของการทำดนตรีได้ถูกใจเรา ยิ่งศิลปินเจ้าของเพลงใช้ชื่อว่า ฟ้อนเล็บ เจ็บมาเยอะ ก็ยิ่งทำให้สนใจเข้าไปอีกว่า พี่เขาเป็นใคร

วิภว์: เป็นเพลงป็อบที่ลงตัวทั้งหมดเลย เนื้อเพลงมีกิมมิคตรงที่เอาเรื่องการหมุนของโลกมาแต่งเป็นเพลงได้อย่างกลมกล่อม ส่วนที่ชอบมากๆ ในเพลงคือการเรียบเรียงดนตรี การใส่ซาวด์แปลกๆ เดี๋ยวมีอันนู้นอันนี้โผล่มา ดูเป็นศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์เยอะ ถึงพื้นฐานจะเป็นเพลงป็อบแต่ศิลปินได้ผสมความแปลกใหม่เข้าไปจนเป็นเพลงป็อบที่ไม่ตลาด ถึงแม้เสียงร้องจะไม่โดดเด่นเท่าไหร่ แต่การใส่นู่นใส่นี่เข้าไป ทำให้ซาวด์โดดเด่นมาก ถ้ายังคงเอกลักษณ์ไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นภาพจำ ที่คนฟังจะคอยฟังว่าเพลงต่อๆ ไปศิลปินจะใส่อะไรเข้ามาอีก

***

Scroll to Top