“บอกลา…คำว่าเพื่อน” จากความรู้สึกที่อยากบอกเพื่อนสู่บทเพลงที่เขียนจากประการณ์ของสมาชิกวง FOAM

วัยรุ่น คือวัยที่เราทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่เพื่อการเรียนรู้ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะ ‘เพื่อน’

เพื่อน มีความสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต สอนให้เรียนรู้นิสัยใจคอและพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากตัวเรา
เพื่อน คือคนที่กอดคอเรียนรู้โลกไปพร้อมกัน อาจจะมีทะเลาะ ถกเถียง หรือความเห็นไม่ลงรอยกัน แต่ท้ายที่สุดความเป็นเพื่อนจะนำเราให้กลับมาหากันอีกครั้ง

ถ้าลองย้อนความทรงจำกลับไปหาเพื่อนทุกคนที่เคยพบมาในชีวิต อย่างน้อยต้องมีสักคนหนึ่งที่เราประทับใจหรือรู้สึกพิเศษจนทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนเพื่อนคนนั้นให้กลายมาเป็นคนรักของเรา

แม้บทสุดท้ายจะสมหวัง ผิดหวัง หรืออาจจะยังเป็นเพียงการแอบรักเพื่อนข้างเดียว แต่ทุกๆ คนก็ล้วนผ่านและมีความทรงจำร่วมกันมา

เช่นเดียวกับ 5 หนุ่มสมาชิกวง FOAM นักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่รวมตัวมาเป็นก๊วนเพื่อนสนิทกันเพราะความรักและความฝันในการทำเพลง จากคนที่ชื่นชอบแนวเพลงที่แตกต่าง ไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อมารวมตัวกันที่ห้องนอนของสมาชิกในวง หรือที่พวกเขาใช้เป็นห้องซ้อมชั่วคราว บทสนทนาจาก 5 หนุ่มก็มุ่งสู่ประเด็นเดียวกันคือ ประสบการณ์แอบรักเพื่อน จนทำให้อยาก “บอกลา…คำว่าเพื่อน”

ใครคือตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้งวง FOAM
เป็บ: ผมกับมิกรู้จักกันมาก่อนจากการชวนกันไปทำกิจกรรมของมหาลัย พอสนิทกันมากขึ้นก็เริ่มคุยกันว่า เออ เราอยากทำเพลงของตัวเองดูบ้าง ซึ่งตรงนี้แหละที่ทำให้คนอื่นๆ ในวงมารวมตัวกันในเวลาต่อมา
มิก: หลังจากนั้นเรารวมตัวกันไปทำเพลงในห้องนอนของจูเนียร์ บางทีก็ห้องนอนของผม
เป็บ: ด้วยความที่พวกผมก็อยู่ในคณะดนตรีกันหมด เมื่อได้ฟังเพลงเยอะๆ แล้วก็เริ่มเกิดความอยากจะแชร์วัตถุดิบที่เราได้ฟังมาให้คนอื่นๆ ได้ฟังบ้าง แต่ข้อแม้คือเราอยากให้มันออกมาจากรสนิยมของแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกัน จนเกิดการผสมผสานและออกมาเป็นแนวทางของวง อาจนิยามง่ายๆ ว่าเพลงของเราคือการเอาส่วนเล็กน้อยที่เราชอบมาปะติดปะต่อกันสร้างเป็นเพลงขึ้นมา

ที่บอกว่าแต่ละคนชอบเพลงไม่เหมือนกัน ลองเล่าให้ฟังหน่อยว่าดนตรีที่ชื่นชอบของตัวเองเป็นแบบไหน
มิก: ถ้าถามถึงความชอบดนตรี ผมว่าของผมมันไม่เคยหยุดนิ่งหรอกครับ แต่การเปลี่ยนแปลงของดนตรีที่ฟังในแต่ละช่วงชีวิตมันจะมีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ผมเลือกฟังเพลงๆ นั้นก็คือ แนวเพลงป็อบ อาร์แอนด์บี และโซล ซึ่งโดยส่วนตัวผมมองว่าดนตรีเหล่านี้มีเมโลดี้และคอร์ดที่เพราะ ซึ่งเราสามารถเอาไปผสมผสานกับแนวอะไรก็ได้
ไอซ์: ผมชอบวงอินดี้เกาหลีครับ คอร์ดเพราะ ซึ่งนอกจากฟังเพลินๆ แล้ว ผมก็จะพยายามศึกษาหาความรู้จากเพลงที่ฟังด้วย ซึ่งวิธีการก็คือ ดูวงดนตรีเหล่านั้นเล่นสด เพราะมันจะเป็นเวอร์ชั่นที่มีทั้งคอร์ดทั้งจังหวะที่แตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งเหล่านี้มันคือข้อมูลความรู้ที่คนทำดนตรีเอามาศึกษาต่อได้ สิ่งที่ทำให้ผมยิ่งชอบเกาหลีมากขึ้นไปอีกก็คือ ทุกครั้งที่เขาเล่นสดมันแสดงออกให้เห็นว่า เขาซึมซับการฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก คือพ่อแม่เปิดอาร์แอนด์บีให้ฟังตั้งแต่ยังเด็กแน่ๆ เขาถึงทำคอร์ดออกมาได้ดีขนาดนั้น

เป็บ: นิสัยการฟังเพลงของผมก็จะคล้ายๆ กับมิกนะ คือเปลี่ยนความชอบไปแทบทุกเดือน ไม่ได้ปิดกั้น แต่ถ้าฟังแล้วเราพบวัตถุดิบดีๆ ผมก็จะมาบอกเพื่อนๆ ในวงว่า เฮ้ย วงนี้เขาทำแบบนี้แล้วดีนะ ลองเอามาปรับใช้กันเวลาพวกเราทำเพลงกันดีมั้ย แล้วเพื่อนๆ ก็จะโยนไอเดียกันมาแล้วว่าเขาสามารถมองไปในแนวทางไหนได้บ้าง
โฟล์ค: ส่วนผมได้หมดทุกแนวครับ ไม่ปิดกั้นเลย ขอแค่เมโลดี้ต้องดี เวลาฟังเพลงสักเพลงหนึ่งผมตัดสินจากตรงนี้เลย ถ้าเพลงไหนเมโลดี้เพราะ เพลงนั้นก็ถูกใจเรา
จูเนียร์: ของผมก็ป็อบร็อค อินดี้ๆ หน่อย จะเป็นวงทางฝั่งอังกฤษซะเป็นส่วนใหญ่ครับ แล้วนิสัยที่ชอบซึ่งแตกต่างจากคนอื่นๆ ในวงก็คือ ผมชอบไปดูคอนเสิร์ตมาก เวลาวงที่ชอบมานี่ผมต้องไปให้ได้ ดูคนเดียวก็ยอม

ไลฟ์สไตล์ในวันว่างของแต่ละคนเป็นแบบไหน
มิก: ถ้าไม่ได้ซ้อมดนตรีผมก็คงดูซีรีย์ ดูหนัง ล่าสุดเพิ่งไล่ดูสตาร์วอส์ตั้งแต่ภาคแรกจนถึงตอนจบเลย ดูมาตั้งแต่เด็กแล้ว พอเอากลับมาฉายใหม่ก็เลยอยากรำลึกความหลัง เพราะเราค่อนข้างอินกับเรื่องนี้มากครับ
ไอซ์: วันหยุดของผมก็สบายๆ ไม่มีแผนอะไรมาก บางครั้งก็ออกไปกับครอบครัว บางวันก็นั่งฟังเพลงไปเรื่อยๆ อีกอย่างหนึ่งคือ ผมชอบออกกกำลังกาย เล่นแบตมินตัน โดยเฉลี่ยก็ประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
เป็บ: ส่วนใหญ่ก็ซ้อมดนตรีอยู่บ้าน แต่ถ้าเครียดมากๆ ก็จะดูอะนิเมะคลายเครียดครับ
โฟล์ค: ถ้าอยู่บ้านก็จะเล่นกีฬา เตะบอล วิ่ง อะไรพวกนี้ แต่ถ้าไม่อยู่บ้านก็จะชอบไปอยู่บ้านพี่ไอซ์ ฟังเพลง เล่นเกมกัน
จูเนียร์: เนื่องจากบ้านอยู่ต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ผมเลยต้องใช้ชีวิตอยู่หอ ก็จะหาเวลาสัก 1-2 ชั่วโมงไปซ้อมดนตรี แล้วก็พักผ่อน ล่าสุดก็เริ่มมีการจัดสรรเวลาว่า จะต้องไปดูหนังทุกอาทิตย์ให้ได้

ด้วยรสนิยมในการฟังเพลงและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน แล้วมาลงตัวที่เพลง บอกลา…คำว่าเพื่อน ได้อย่างไร
มิก: คงเป็นอย่างที่โฟล์คบอกครับ เพลงไม่ว่าจะเป็นแนวไหน ถ้าเกิดเมโลดี้เพราะ คอร์ดเพราะ เพลงๆ นั้นก็จะเพราะ เราก็จะพยายามยึดหลักตรงนี้กันไว้ในการทำเพลงทุกเพลง
โฟล์ค: ถ้าเป็นส่วนของเนื้อหา คือเพลงนี้มันมีที่มาจากการที่เรามานั่งคุยกัน เราพบว่า เออทุกๆ คนล้วนต้องมีความรัก ต้องเคยแอบชอบเพื่อนบ้างล่ะ แต่จะบอก ไม่บอก สมหวัง หรือไม่สมหวัง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่แน่ๆ คือทุกคนล้วนเคยผ่านความรักในวัยเรียน สมัยเด็กๆ เวลาที่ตื่นไปโรงเรียน เราไม่ได้อยากไปเพื่อเรียนจริงๆ แต่เราอยากไปเจอใครบางคนในห้องเรียนมากกว่า
เป็บ: เพลงนี้เกิดขึ้นในห้องนอนของจูเนียร์ เราใช้วิธีการแต่งเพลงแบบผลัดกันพูดทีละประโยค ซึ่งจุดน่าสนใจคือ สิ่งที่แต่ละคนพูดออกมากลับเอามาเชื่อมร้อยกันได้อย่างลงตัว จุดนี้เราเลยยึดไว้เป็นกระบวนการในการทำงานของวงเราด้วยว่า ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนแต่งเพลง แต่ทุกคนสามารถร่วมกันคิดร่วมกันทำได้

ลงตัวทุกครั้งเลยเหรอ มีทะเลาะกันบ้างมั้ย
จูเนียร์: บางทีก็มีปากเสียงกันบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องความเห็นไม่ตรงกัน
มิก: แต่คือไม่ได้รุนแรงมากนะครับ อาจจะเรียกว่าเถียงกันเหมาะกว่า หรืออย่างบางครั้งถ้าเป็นการซ้อมกันช่วงเมื่อก่อน อาจจะมีคนมาสายบ้าง นัด 10 โมง มาบ่าย 3 ก็มีอารมณ์เสียกันบ้าง แต่ตอนนี้พอเข้าใจกัน นัดรวมตัวเพื่อซ้อมก็จะไม่มีคนสายแล้วครับ

เราเชื่อว่าในทุกกลุ่มเพื่อนจะต้องมีอย่างน้อยสักคนหนึ่งที่เป็นตัวเปิด สำหรับวงโฟมมีใครเป็นคนๆ นั้น
มิก: ตัวเปิดประจำต้องคุณเป็บเลยครับ
โฟล์ค: เป็บเขาจะเป็นคนหูทิพย์ ได้ยินทุกอย่าง เวลาใครเล่นอะไรผิดหรือมีอะไรนิดๆ หน่อยๆ เขาจะทักขึ้นมาทันที อารมณ์ของวงก็มักจะขึ้นสูงในช่วงนั้นครับ
เป็บ: คือผมถือคติที่ว่าเวลามีอะไรก็พูดเลยดีกว่า วันนี้ใครเล่นไม่ดีก็ทักเลย จะได้ไปแก้ไขหรือว่าเคลียร์กัน ไม่ต้องเก็บไปพูดกันทีหลัง


มิก: สุดท้ายก็ลงเอยกันด้วยดีครับ เราเถียงกันตรงนั้นแล้วก็จบลงตรงนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม จะไม่มีใครเก็บมาคิดเล็กคิดน้อย

ด้วยความที่เป็นวงน้องใหม่ในวงการเพลง FOAM มีอะไรอยากจะฝากบอกแฟนเพลงบ้าง
โฟล์ค: ถึงแม้ปัจจุบันนี้จะมีวงดนตรีมากมาย และวงเราก็ยังเป็นวงที่หน้าใหม่มากๆ ผมคงอยากจะยืนยันในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาตลอดในการทำเพลงก็คือ เราทำตามความชอบของเรา ไม่ได้ไปแข่งขันกับใคร แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ละเลยที่จะไปดูว่าตอนนี้เพลงในตลาดไปถึงไหนเพื่อจะเอามาปรับใช้ในแนวทางของเรา
มิก: คงอยากฝากบอกกับวัยรุ่นที่เดินสยามมากกว่าว่า เพลงของเรากำลังคุยกับพวกคุณนะ
เป็บ: ใช่ๆ ผมนึกถึงเด็กที่ไปสยามทุกวันเพื่อไปเรียนพิเศษ ผมว่าเพลงของวงเรามันมีอารมณ์ประมาณนั้นน่ะครับ

นิยามความเป็นเพื่อนและฉายาที่เพื่อนมอบให้เพื่อน
มิก – นนท์ปวิธ ทาสะโก (ร้องนำ)
“คำว่าเพื่อนมีความสำคัญต่อทุกๆ คน ไม่ว่าเราจะทำงานหรือกิจกรรมอะไรในชีวิต ถ้าเลือกได้ว่าอยากจะแชร์สิ่งเหล่านั้นร่วมกับใครสักคน ก็คงต้องเป็นเพื่อนนี่แหละครับ”
เจ้าของฉายา: ฮอตที่สุด
ด้วยหน้าตาขาวตี๋ดูดีของมิกทำให้มีสาวๆ ถูกอกถูกใจมากมายจนเรียกได้ว่า ‘หัวกระไดไม่แห้ง’ เลยทีเดียว

ไอซ์ – กรณัท จันทราอุกฤษฎ์ (คีย์บอร์ด)
“ความเป็นเพื่อนทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจจิตใจของคนอื่น เพื่อที่จะจัดการความต้องการของเราที่ไม่ตรงกับเขา ทำอย่างไรให้ไม่ทะเลาะกัน อยู่กันแบบสบายใจ แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดไปถูกใจเพื่อนสักคนมากๆ ก็คงต้องบอกลาคำว่าเพื่อน แล้วมารักกันดีกว่า (หัวเราะ)”
เจ้าของฉายา: หนุ่มน้อยขี้เหงา
เวลาเหงาไอซ์จะชอบโพสต์สเตตัส โดยเฉพาะตกกลางคืน เพื่อนๆ จะต้องเห็นสเตตัส หาเพื่อนไปเซเว่นฯ หรือโพสต์ชวนสาวๆ ไปตีแบตในวันหยุด

เป็บ – ชินธันย์ ปรัชญ์ธนานันท์ (กีตาร์)
“ผมค่อนข้างรักเพื่อนทุกคน และรู้ตัวเองเลยว่าขาดเพื่อนไม่ได้ ถ้าไม่มีเพื่อนคงเหงาแน่ๆ ผมเลยเป็นคนที่ถ้าเพื่อนยกหูโทรหาเมื่อไหร่ ผมนี่รีบไปหาทันทีเลย”
เจ้าของฉายา: หูทิพย์
ทุกครั้งที่เข้าห้องอัด เวลาใครสักคนเล่นผิดหรืออาจจะไม่ผิด เป็บจะต้องเป็นคนแรกที่เอ่ยทักท้วงเพื่อนๆ แม่แต่เพลงที่เปิดฟังในวิทยุ ก็ยังต้องถูกเป็บจับผิดอยู่เสมอ

โฟล์ค – ชนกานต์ อินทะพงษ์ (กีตาร์)
“การมีเพื่อนก็เหมือนเป็นการฝึกการอยู่ร่วมกันในสังคม ทำให้เราได้เรียนรู้จากการพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันซึ่งมันย้อนกลับมาขัดเกลาให้เราอยู่ในสังคมได้ ถ้าอยู่คนเดียวนานๆ ก็อาจจะส่งผลให้เรากลายเป็นคนนิสัยแปลกๆ ในสายตาของคนอื่นได้เหมือนกัน แม้แต่การเรียนที่ผมอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะว่ามีเพื่อนที่ดีนะครับ”
เจ้าของฉายา: เจ้าพ่อวีรกรรม
ความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งที่พบเห็นข้างรั้วโรงเรียนมัธยมของโฟล์คจะต้องทำให้เพื่อนๆ เหวอและปะหลาดใจอยู่เสมอ จนเพื่อนๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “โฟล์คเจ็บมาเยอะ”

จูเนียร์ – ภูริทัต สมบุญพรรณ (กลอง)
“เพื่อนอยู่ในทุกช่วงวัยนับตั้งแต่อนุบาลจนถึงวัยทำงาน การพบเจอเพื่อนในแต่ละวัยนั้นที่สุดแล้วมันคือบทเรียนบทหนึ่งซึ่งในที่สุดมันจะช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตให้แก่ตัวเรา”
เจ้าของฉายา: พ่อหนุ่มรักแฟน
เวลาชวนกันไปทำอะไรที่ไหน เพื่อนๆ ทุกคนจะรู้ดีกว่าจูเนียร์มีเดตไลน์ว่าจะต้องกลับบ้านไม่เกินเที่ยงคืน ห้ามเกินเด็ดขาด!!!

***

Scroll to Top