“ต้น-ยศศิริ ใบศรี หรือ หัวกลม” ผู้ที่สร้างสีสันให้วงการเอ็มวีเพลงอินดี้มาร่วม 10 ปี

หลังจากชมเอ็มวีเพลง “เจ็บจนไม่เข้าใจ” จบลง หลายคนน่าจะตกอยู่ในอารมณ์คล้ายๆ กัน — เหงา / เศร้า / น้ำตาไหล

เดิมทีฟังเพลงอย่างเดียว ดนตรีและเนื้อหาของมันก็พาเราเศร้ามากอยู่แล้ว เอ็มวีเพลงนี้กลับยิ่งพาเราดำดิ่งลึกลงไปในอารมณ์อกหักเข้าไปอีก “ต้น-ยศศิริ ใบศรี หรือ หัวกลม” คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังภาพที่เราเห็นทั้งหมด เขาเคยกำกับเอ็มวีเพลงอินดี้นับร้อยเพลง แถมยังเป็นผู้กำกับที่มีสไตล์การเล่าเรื่องที่แปลกใหม่น่าสนใจ และสร้างสีสันให้วงการเอ็มวีเพลงอินดี้มาร่วม 10 ปี

ต้น-ยศศิริ ใบศรี หรือ หัวกลม

เขาเล่าถึงที่มาที่ไปของโปรเจคล่าสุด ที่นับเป็นการทำงานร่วมกันครั้งที่สองระหว่าง ‘ต้น’ และ ‘ปอย POTRAIT’ เมื่อสองปีที่แล้ว ต้นเคยกำกับเอ็มวีเพลง หวิว (เวลาที่เรานึกถึง…) กลับมาอีกครั้งในคราวนี้ ความพิเศษคือการเล่าเรื่องโดยใช้
อนิเมชัน และลายเส้นที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์เหงาเศร้าได้อย่างดีเยี่ยม

อยากให้คุณช่วยเล่าถึงเรื่องราวในเอ็มวีให้ฟัง
สิ่งที่เราต้องการจะสื่อในเอ็มวีเพลงนี้ มันคือเรื่องของผู้หญิงที่เจ็บจนไม่เข้าใจ ผู้หญิงที่ทนในด้านดีด้านร้ายของผู้ชายตลอดเวลา และไม่เข้าใจจริงๆ ว่าจะทนอยู่กับผู้ชายคนนี้ทำไม คอนเซปท์คือเป็นอนิเมชัน ที่เล่าเรื่องด้วยการร้องไห้ เราก็มานั่งตีโจทย์ว่า ตั้งแต่มุม close-up, medium, wide และ extreme wide shot เหล่านี้มันทำอะไรได้บ้างในการที่จะเล่า ซึ่งเรื่องราวที่เราเห็นก็จะเป็นกริยาต่างๆ

เริ่มต้นจากผู้ชายหอมแก้มผู้หญิง จากนั้นก็ด่า ซบไหล่ โดนตบ นอนตัก ทะเลาะเบาะแว้ง กระชากมือกัน จนไปถึงตอนที่ผู้ชายพาผู้หญิงคนอื่นเข้ามา แล้วก็จะมีช่วงที่เราพยายามจะขยี้ตรงอารมณ์เศร้า จึงเปลี่ยนให้เป็นช่วงวิดีโอให้เห็นมุมของผู้หญิงที่กำลังเศร้าหลายๆ แบบ จนมาจบตรงที่ภาพกว้างมากๆ แล้วถอยออกนอกห้อง ก็คือผู้ชายออกจากบ้านไปยืนครุ่นคิด แล้วก็ปิดประตูจบ เรื่องทั้งหมดมีอยู่เท่านี้

เรื่องของผู้หญิงที่เจ็บจนไม่เข้าใจ
ผู้หญิงที่ทนในด้านดีด้านร้ายของผู้ชายตลอดเวลา
และไม่เข้าใจจริงๆ ว่าจะทนอยู่กับผู้ชายคนนี้ทำไม

ในเอ็มวีเพลง หวิว (เวลาที่เรานึกถึง…) คุณใช้เทคนิคถ่ายทำแบบ long take แล้ว ในเพลงนี้ คุณได้ใช้เทคนิคพิเศษอะไรบ้าง
ถึงจะเป็นอนิเมชั่นแต่ในเพลงนี้ผมยังคงใช้วิธีการถ่ายทำจริงๆ โดยยังถ่ายทำแบบ long take อยู่ เราก็จะเอาวิดีโอที่ถ่ายทำมาวาดตาม ซึ่งเป็นเทคนิคที่เราเคยทำในเอ็มวีตัวอื่นๆ มาแล้ว แต่สำหรับเอ็มวีเพลงนี้ ความพิเศษมันคือการเล่าผ่านลายเส้นที่มันจะห่วยลงไปเรื่อยๆ ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่า ลายเส้นจากสวยๆ จะเริ่มแย่ลงๆ จนสุดท้ายมันก็อาจจะออกมาดูเหมือนงานไม่ค่อยเสร็จ แต่จริงๆ แล้วเราตั้งใจให้มันได้อารมณ์งี่เง่าๆ ไปเลย

ทำไมถึงเลือกผู้หญิงเป็นตัวหลักในเอ็มวีเพลงที่ผู้ชายร้อง
ถ้าไปดูให้ดีเราจะเห็นว่าเรื่องเศร้าหรือเพลงเศร้าที่คนไทยแต่ง มักจะเป็นมุมมองของผู้หญิงซะเป็นส่วนใหญ่ และถึงแม้เพลงนี้จะเป็นผู้ชายร้องแต่พี่ปอยเองก็อยากให้คนนำเรื่องเป็นผู้หญิง ซึ่งมันก็ช่วยให้สื่อสารได้ง่ายด้วย แล้วการที่เราจะเอาผู้ชายมานั่งเศร้า น้ำตาเยิ้ม มันก็อาจจะไม่น่าดูเท่าไหร่ แต่ถ้าให้ผู้หญิงนำทั้งหมดเลยก็จะเป็น เรื่องที่เราถนัดอยู่แล้ว เพราะโดยปกติเราก็ถ่ายผู้หญิงอยู่ซะเป็นส่วนใหญ่

โดยส่วนตัวมีประสบการณ์ความรักที่เชื่อมโยงกับเพลงนี้บ้างมั้ย
ไม่มีเลย ผมตีโจทย์จากเพลงอย่างเดียวเลย ไม่เคยอยู่ในอารมณ์แบบนี้ แต่ถ้าจะใกล้ตัวที่สุดก็คือ นักแสดงในเอ็มวีนี่แหละที่เค้าเลิกกับแฟนจริงๆ นักแสดงก็คือหนึ่งในทีมวาดการ์ตูนในเอ็มวี ตอนถ่ายทำก็ไปถ่ายทำที่คอนโดเขา

เวลาทำงานกำกับเอ็มวี ผู้กำกับอย่างคุณต้องรอบิ้วท์อารมณ์ก่อนเริ่มงานมั้ย
ไม่เลย วิธีการทำงานที่ผมทำเสมอคือ จะแบ่งโครงสร้างเพลงออกมาก่อนเพื่อจะได้เห็นว่า เพลงนี้มี intro กี่วินาที และ verse หนึ่งมีกี่วินาที รวมทั้งการหาคำสำคัญๆ ในแต่ละซีนว่า ประโยคไหนหรือคำไหนเด่น เพื่อจะได้เอาแอคชั่นมาลงให้พอดีกับช่วงเพลง เราจะได้วางแผนถูกว่า มีเวลา 2 เดือนนะ จะทำอย่างไรให้ทัน ต้องใช้คนกี่คน อย่างเอ็มวีตัวนี้ก็ใช้คนวาดทั้งหมด 5 คน ส่วนผมเป็นคนประกอบมันให้เรียบร้อย สุดท้ายแล้วการทำเอ็มวีสำหรับผม คือการวางแผนมากกว่า มันไม่ใช่เรื่องศิลปะที่ต้องรอทำอารมณ์ขนาดนั้น

อยากรู้เบื้องหลังของคนที่กำกับเอ็มวีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างคุณ
ก่อนหน้านี้ผมเรียนด้านการออกแบบนิเทศศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็ได้ฝึกงานที่บริษัท DuckUnit ก็จะมีทักษะด้านการถ่ายวิดีโอ ภาพนิ่ง และการทำอนิเมชัน พอเรียนจบก็ได้ไปทำ visual concert กับ DuckUnit เพราะฉะนั้นผมจะคุ้นเคยกับการทำภาพให้เข้ากับจังหวะดนตรี ทำภาพที่มันซัพพอร์ทกับเพลง หรือจะทำภาพอย่างไรดีให้มันไม่น่าเบื่อ วิธีคิดก็จะเป็นแบบนี้มาตลอด คือหาคีย์เวิร์ดเด่นๆ ตีความหมายจากเพลงเป็นหลัก ซึ่งมันจะต่างจากเอ็มวีที่เอาโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์มาเป็นที่ตั้ง อันนี้มันก็เป็นเพราะโดยส่วนตัวเรารู้สึกว่า การให้ความสนใจกับเนื้อเรื่องมากเกินไปมันทำให้ภาพเด่นเกินเพลง คนจะจำเรื่องได้ แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคือเพลงอะไร ผมกลายเป็นคนนอกกรอบเข้ามาในกรอบ ไม่ใช่คนในกรอบออกไปนอกกรอบ ผมไม่ใช่คนโปรดักชั่นตั้งแต่แรก ไม่ใช่คนเล่าเรื่องภาพยนตร์ตั้งแต่แรก ผมมาจากกราฟิกที่ชอบภาพเคลื่อนไหว แล้วมาเรียนรู้การจัดแสงหรือภาษากล้องทีหลัง

การเป็นคนนอกกรอบเข้ามาในกรอบมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร
ข้อดีมันก็คือ สร้างความแปลกใหม่ให้กับคนดู อย่างเช่นคนที่มาจ้างงานเรา บางทีเค้าก็ไม่รู้ว่า แบบที่ทำนี่ถูกหรือผิด มันก็เลยเป็นข้อดี แต่ข้อเสียก็คือ กว่าผมจะรู้เรื่องว่าอะไรถูกต้องอะไรไม่ถูกต้อง มันก็เสียเวลาไปนานมากแล้ว ต่างจากคนที่จบภาพยนตร์มา เค้าจะมีทักษะในการถ่าย จัดแสง และจัดการกองถ่ายตั้งแต่แรก ก็ทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น เพราะผมไม่มีความรู้เรื่องการเล่าเรื่องแบบภาษาภาพยนตร์เลย ประสบการณ์ตั้งแต่ทำเอ็มวีมาร้อยกว่าตัวเท่านั้นที่สอนเราแล้วก็อาศัยร่วมงานกับคนที่เก่งและเรียนรู้จากเค้า

ชอบศิลปินคนไหนเป็นพิเศษ
ผมไม่ได้ชอบศิลปินเมืองนอกคนไหนเป็นพิเศษ แต่ถ้าเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน ผมมักจะได้จากรุ่นพี่หรือคนที่ทำงานมาก่อนในบ้านเราเป็นหลัก ผมสนใจว่า พวกเขาคิดอะไรถึงทำงานออกมาเป็นแบบนี้ ผมได้มีโอกาสร่วมงานกับพี่ติ๋ม (พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์) ที่เป็นช่างภาพแฟชั่น ก็ได้เห็นมุมมองการถ่ายภาพของคนรุ่นก่อน ที่ช่างภาพสามารถบอกได้ว่า สวยต้องหันหน้าแบบไหน ยกหน้าขึ้น กดหน้าลง หรือใส่เสื้อแบบไหนถึงจะเรียกว่าสวย หรือถ้าเป็นวิธีการเล่าเรื่อง ผมก็จะชอบพี่เปเล่ (คริสโทเฟอร์ วอชิงตัน) ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีการเอาคอนเซฟท์มาขยายออก โดยที่ไม่ต้องพึ่ง reference พี่วิช พิมพ์กาญจนพง เจ้าของ DuckUnit ที่ผมเคยฝึกงานด้วย ก็จะมีวิธีคิดแบบสถาปัตย์ คือสายเทคนิคอยู่แล้ว คนบ้านเรามีวิธีคิดแปลกๆ เยอะมาก ไม่จำเป็นต้องไปยกศิลปินเมืองนอกมาเลย

***

Scroll to Top