บทเพลง ‘เกี่ยวกันไหม’ คือ ‘ความสดใส’ ในแบบฉบับของ อิ้งค์ วรันธร

เสียงตอบรับที่ดีเกินคาดหลังจากปล่อยซิงเกิ้ล ‘เกี่ยวกันไหม’ ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะต้องยกความดีงามให้กับ ‘แทน-ธารณ ลิปตพัลลภ’ หรือ แทน ลิปตา ผู้ตกปากรับคำมาโปรดิวซ์เพลงให้กับอิ้งค์เป็นครั้งแรก

เบื้องหลังเพลงที่ทำให้ใครหลายคนยิ้มจนแก้มปริอาจจะมาจากกระบวนการทำงานของเขา โดยแทนเล่าให้ฟังว่า ข้อกำหนดเวลาเขาเลือกที่จะทำเพลงให้ใครสักคนคือ รสนิยมในการฟังเพลงที่คล้ายกัน แทนจึงยังไม่ตกปากรับคำก่อนจะได้ทำความรู้จักกับตัวศิลปิน ด้วยเหตุผลนี้จึงนำไปสู่ความเซอร์ไพรซ์แก่ทั้งสองคือการที่ได้พบว่า ‘เพลงโปรดของอิ้งค์คือเพลงที่แทนเป็นคนทำอยู่เบื้องหลัง’ ในที่สุดเคมีของทั้งสองจึงผสมผสานกันอย่างลงตัวจนกลายเป็นบทเพลง ‘เกี่ยวกันไหม’ ที่ฟังแล้วชุ่มชื้นหัวใจ แถมยังเป็นเพลงที่ดึงความสดใสของอิ้งค์ออกมาได้พอดิบพอดี ราวกับคนที่รู้จักและเข้าใจในความเป็น อิ้งค์ วรันธร มานานแสนนาน

เหตุผลใดที่ทำให้คุณตกปากรับคำมาทำเพลงให้กับ อิ้งค์ วรันธร
แทน:
ถึงเราจะไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อน แต่เราได้รู้จักเขาจากการทำงานที่ผ่านมาของเรา ผมเคยไปเป็นกรรมการในรายการแข่งร้องเพลง เห็นว่ามีคนร้องเพลง ‘เหงา เหงา’ กันหลายคน เลยรู้ว่าเพลงของเขาดัง ในมือถือผมยังมีเพลง ‘ฉันต้องคิดถึงเธอแบบไหน’ ซึ่งเป็นเพลงของเขาที่ผมชอบ ส่วนความทรงจำเกี่ยวกับอิ้งค์อีกอย่างหนึ่งก็คือ รู้ว่าเขาเคยเป็นนักร้องวงเกิร์ลกรุ๊ปมาก่อน (หัวเราะ) พอดีพี่ปอย (ตวัน ชวลิตธำรงค์) ติดต่อมาว่าสนใจทำเพลงของอิ้งค์มั้ย ผมยังไม่ได้ตอบตกลงในทันทีแต่ขอคุยก่อน กระบวนการทำงานของเราคือ ต้องขอทำความรู้จักศิลปินก่อน เพราะเราไม่ได้มืออาชีพถึงขั้นว่าจะสามารถทำเพลงให้กับศิลปินคนไหนก็ได้ แต่รสนิยมในการฟังเพลงต้องใกล้เคียงกันด้วย ซึ่งพออิ้งค์ลองส่งแนวเพลงที่เขาชอบมาให้ โอ้โห แต่ละเพลงมันคือเพลงในยุคที่เราชอบทั้งนั้นเลย แถมบางเพลงยังเป็นเพลงที่เราทำอีกด้วย

อิ้งค์: อย่างเพลง ‘ความรักที่ซ่อนไว้’ (ของ Funky Wah Wah) เป็นอีกเพลงหนึ่งที่อิ้งค์ชอบ แล้วตลกมากคือ ตอนนัดไปคุยกันที่บ้านพี่แทน อิ้งค์ไปเจออัลบั้มของ Funky Wah Wah วางอยู่ ก็เลยบอกพี่แทนไปว่า อิ้งค์ชอบเพลงความรักที่ซ่อนไว้มากเลย แล้วพี่แทนหันมาบอกว่า พี่แทนทำ ก็เลยเพิ่งนึกขึ้นมาว่า พี่คัตโตะร้องนี่นา ก็เลยแบบว่า หน้าแตก (หัวเราะ)

‘เรารู้สึกว่าถ้ามีเพลงเหงาออกมาอีกสักเพลง
เราคงจะกลายเป็นคนอมทุกข์เต็มตัวแล้วนะ (หัวเราะ)
เพลงนี้ก็เลยตั้งใจให้สว่างสุดๆ ไปเลย’

แทน: แล้วมีอีกหลายเพลงมากเลยนะที่อิ้งค์บอกว่าชอบ ซึ่งมันเป็นเพลงที่เราฟัง เป็นเพลงโปรดของเราตั้งแต่เด็ก บางเพลงเป็นของศิลปินยุค 80 ด้วยซ้ำ เริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนแนวเพลงกันจนถูกคอก็เลยตกลงมาทำเพลงด้วยกัน โจทย์แรกสำหรับเราผ่านไปแล้ว แต่โจทย์ต่อมานี่แหละที่เป็นเรื่องยาก

โจทย์ที่คุณบอกว่า ‘ยาก’ คืออะไร
แทน:
ความยากอย่างแรกคือ การที่ต้องเขียนเพลงเร็ว สำหรับผมเพลงเร็วเขียนยากกว่าเพลงช้า ในหมู่คนแต่งเพลงจะรู้กันดีว่าเพลงเร็วคือ เพลงปราบเซียน ส่วนความยากต่อมาคือ โจทย์ที่บอกว่า อยากได้เพลงสดใส เพราะอิ้งค์ที่เราเคยเห็นและรู้จักมาคือ ผู้หญิงที่ร้องเพลงหม่นๆ เหงาๆ ซึ่งทุกเพลงที่เขาร้องมาก็เป็นเพลงอารมณ์นั้นหมดเลย จนกลายเป็นภาพที่ทุกคนจำไปแล้ว ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงที่ผมไปเขียนกับน้องข้าว (ปณิธิ เลิศอุดมธนา – ศิลปินวง fellow fellow) ทีนี้เราก็ต้องมาคิดต่อว่าการจะเปลี่ยนโหมดให้อิ้งค์ดูสดใสมากขึ้น แต่ต้องไม่มากจนกลายเป็นไม่ใช่ตัวของเขา ควรเป็นเพลงแบบไหน

อิ้งค์: ที่อยากได้เพลงสดใสบ้างเป็นเพราะว่า เราทำเพลงอารมณ์เหงาๆ มาหลายเพลงจนมีคนทักเยอะมากว่า เป็นคนเหงาเหรอ จนเรารู้สึกว่าถ้ามีเพลงเหงาออกมาอีกสักเพลง เราคงจะกลายเป็นคนอมทุกข์เต็มตัวแล้วนะ (หัวเราะ) ขอให้คนได้เห็นเราในมุมอื่นบ้าง เพลงนี้ก็เลยตั้งใจให้สว่างสุดๆ ไปเลย

แทน: แต่ต้องไม่ใช่เพลงที่เปิดมาแล้วอิ้งค์ ลั้ลลามีความสุขสุดๆ เลย แบบนั้นคือเกินไป ถ้าลองฟังในเพลงเกี่ยวกันไหม จะมีประโยคหนึ่งที่บอกว่า ‘มันเหมือนไม่เป็นตัวเอง…มันไม่ใช่ฉัน’ ซึ่งมันเกิดจากการที่เรามานั่งคิดถึงอิ้งค์ในแง่มุมของการที่ต้องเปลี่ยนตัวเอง แต่การไม่เป็นตัวเองในแบบที่ดีมันมีอะไรบ้าง จนมาจบตรงที่ว่า ผู้หญิงนิ่งๆ เป็นตัวของตัวเองมากๆ แต่วันหนึ่งที่มีคนเข้ามาในชีวิต ทั้งที่เขายังไม่ทันได้ทำอะไรเลย แต่กลับกลายเป็นตัวเราที่เปลี่ยนไป จนต้องถามตัวเองว่า เฮ้ย! เกิดอะไรขึ้นกับฉัน จากคนที่ไม่ชอบฟังเพลงรักเลย ตอนนี้นั่งฮัมเพลงรักทั้งวันเลย พอรู้ตัวอีกทีก็ อ๋อ เพราะมีอีกคนเข้ามาในชีวิตสินะ ถึอว่าเป็นเพลงแอบรักที่สดใสพอดี ไม่มากเกินไป และเหมาะกับสิ่งที่อิ้งค์เป็น

อิ้งค์: แล้วมันก็ยังตรงกับสิ่งที่ผ่านมาของเราคือ ตั้งคำถามอีกแล้ว เหมือนอิ้งค์เป็นคนที่มีคำถามเยอะเนอะ เพลงนี้ก็ยังถามตัวเองอีก

ในการทำเพลงรัก พวกคุณได้พูดคุยเรื่องความรักกันบ้างมั้ย
แทน:
คุยเยอะครับ จนเรียกได้ว่าผมแทบจะเป็นวูดดี้เกิดมาคุย นั่งสัมภาษณ์เรื่องความรักกันยาวเลย

อิ้งค์: มีแต่เรื่องเศร้าๆ หรือเปล่า (หัวเราะ) จริงๆ ช่วงที่ทำเพลงนี้ชีวิตก็แบบไม่ได้อินเลิฟอะไรเลยนะ

แทน: ถามอิ้งค์เยอะมาก ส่วนใหญ่จะได้เรื่องที่น่าจะเป็นโหมดเพลงเศร้าหรือเพลงอกหักล้วนๆ เลยครับ ซึ่งในเมื่อเพลงนี้ควรเป็นเพลงสดใส ข้อมูลเหล่านั้นก็เก็บไปใช้เพลงหน้าก็แล้วกัน เพลงนี้เราพยายามทำให้เนื้อร้อง กับทำนองดูสดใสหน่อย แล้วลองมาบวกกับดนตรีที่ไม่สดใสมาก เราว่ามันน่าจะพอดี ไม่ล้ำเส้นความเป็นอิ้งค์

การพูดคุยเรื่องปูมหลังของศิลปินจำเป็นกับการแต่งเพลงขนาดไหน
แทน:
ไม่ถามไม่ได้เลยครับ สำหรับผมมันจำเป็นมาก ด้วยความที่ตัวเราเองเป็นศิลปิน เวลาที่ไปเล่นคอนเสิร์ต ถ้าเราไม่อินไม่ชอบในเพลงที่ตัวเองเล่น จบเลยนะ คนดูก็คงไม่อินไปด้วย ผมจึงถามอิ้งค์เสมอว่า ชอบหรือไม่ชอบ เปลี่ยนได้ คุยกันเยอะๆ เวลาเราทำเพลงให้ใคร เราต้องถามแบบนี้กับทุกคน ถ้าไม่ชอบ เราเปลี่ยนได้ ไม่ซีเรียสเลย แต่อยากให้ตอบโจทย์ทั้ง 2 ฝ่าย

อิ้งค์: แต่จำได้ว่าวันที่ส่งเพลงที่พี่แทนร้องไกด์มา อิ้งค์นั่งอยู่ในรถก็ฟังมาตลอดทาง รู้สึกว่ามันทำให้เรานึกถึงเพลงเก่าๆ ที่เราชอบฟัง มันเป็นผู้หญิงแบบ ไม่ใช่ผู้หญิงที่จะไปบอกความรู้สึกกับผู้ชายตรงๆ ดูน่ารักดี ก็ถือว่าชอบตั้งแต่แรกเลย

‘เฮ้ย! โอเคเลยนะ และไม่ได้รู้สึกว่าสดใส
จนเกินที่ตัวเขาควรจะเป็น
มันอยู่ตรงกลางพอดี
กับเส้นที่เราแบ่งไว้ตั้งแต่แรก’

รู้สึกโล่งขึ้นเยอะมั้ยที่อิ้งค์บอกว่าชอบเพลงตั้งแต่ครั้งแรกที่เราส่งให้
แทน:
ก็เหมือนคนทำหนังแหละครับ พอบทผ่านตั้งแต่ครั้งแรกก็โอเคขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่ความยากของเพลงนี้ดันอยู่ในช่วงต่อไปคือ ตอนอัดร้อง ซึ่งใช้เวลานานมากเพราะอย่างที่รู้กันว่า อิ้งค์เป็นคนที่ร้องเพลงช้ามาเยอะ พอมาเจอเพลงเร็วที่ไม่คุ้นจึงต้องมีการปรับจูนกันหลายวันหน่อย

อิ้งค์: คือด้วยสไตล์การร้องของอิ้งค์ เราจะเป็นคนที่ร้องเพลงอารมณ์เหงาๆ เศร้าๆ ดี แต่ถ้าเป็นเพลงสนุก เวลาฟังมันก็จะต้องรู้สึกสนุกไปด้วย ถ้าเราร้องแบบเดิม มันจะไม่รู้สึกตาม ชีวิตช่วงนั้นก็เลยต้องเข้าไปซ้อมอัดร้องที่บ้านพี่แทนบ่อย กลับมาก็ยังต้องทำการบ้านต่อเยอะ ในบรรดาเพลงที่ผ่านมา เพลงนี้น่าจะยากที่สุดแล้ว

แทน: อัดร้องอยู่นานจนพอใจขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว ก็ทำจนเสร็จ ซึ่งหลังจากส่งมาสเตอร์ไปแล้วผมก็ไม่ได้ฟังอีกเลย จนวันที่เพลงถูกปล่อยออกมา ระหว่างเราขับรถกลับบ้านก็เปิดฟังซ้ำไปซ้ำมาอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง รู้วึกว่า เฮ้ย! โอเคเลยนะ มันมีกรู๊ฟที่ดี และไม่ได้รู้สึกว่าสดใสจนเกินที่ตัวเขาควรจะเป็น ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่อารมณ์เศร้าหรือนิ่ง มันอยู่ตรงกลาง พอดีกับเส้นที่เราแบ่งไว้ตั้งแต่แรก

“ผมบอกอิ้งค์เสมอว่า
ทุกครั้งเวลาเขียนเพลง
แล้วเรารู้สึกจั๊กจี้กับเพลงที่เขียน
แปลว่าดี…การจั๊กจี้เป็นสิ่งที่ดี”

อิ้งค์: จำได้ว่าตอนที่เพลงปล่อยแล้ว พี่แทนก็ไลน์มาคุย บอกว่าฟังมาตลอดทางเลย พี่แทนชอบ แล้วพอดีกันว่า อิ้งค์ก็ฟังตลอดทางกลับบ้านเหมือนกัน ยิ่งได้ฟังพร้อมๆ กับดูเอ็มวียิ่งรู้สึกจั๊กจี้

แทน: ซึ่งผมบอกอิ้งค์เสมอว่า ทุกครั้งเวลาเขียนเพลงแล้วเรารู้สึกจั๊กจี้กับเพลงที่เขียนแปลว่าดี การจั๊กจี้เป็นสิ่งที่ดี

ในการทำเพลงให้กับศิลปินคนอื่น มีความเป็นลิปตามากน้อยแค่ไหน
แทน:
ผมว่าก็ยังมีส่วนความเป็นลิปตาติดไปอยู่บ้าง เพราะสุดท้ายแล้ว ลิปตาก็คือตัวตนของเราเองนั่นแหละ ถ้าปกติเราเคยทำหนังผีตลอดเวลา แล้ววันหนึ่งมาทำหนังรัก หนังเรื่องนั้นก็ยังมีลายเซ็นบางอย่างของเราอยู่ แต่ข้อดีของการมาทำเพลงนี้คือ การได้มาทำงานกับทีม BOXX MUSIC ทุกคนค่อนข้างให้ input เยอะ ทุกคนมีความคิดเห็นและช่วยเราได้เยอะ อิ้งค์ก็ input ให้เยอะเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะตอนนี้เรามาทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์ ไม่ได้เป็นอาร์ทติสแล้วนะ การเป็นอาร์ทติสคือการทำงานในฐานะลิปตา ชอบอะไรเราก็ทำอย่างนั้น แต่การทำเพลงให้นักร้องคนอื่นไป perform ต่อ เราต้องคุยต้องถามศิลปินที่ให้เยอะๆ เขาคือคนที่รู้ดีที่สุดเวลาอยู่บนเวทีของเขา

คิดว่าตัวเองมีความเข้าใจในการถ่ายทอดมุมมองความรักของผู้หญิงออกมาเป็นบทเพลงได้ดีแค่ไหน
แทน:
ถ้าไม่ใช่เพลงของลิปตา ก็ต้องบอกว่ามีคนให้เขียนเพลงผู้หญิงเยอะกว่าผู้ชายถือว่ามากกว่าพอสมควรนะ เพลงผู้ชายส่วนมากเขียนไม่ค่อยผ่านเท่าไหร่ (หัวเราะ)

เพราะเรามีความเข้าใจในมุมมองของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมั้ย
แทน:
อืม… (ครุ่นคิด)

อิ้งค์: พี่แทนชอบเอาเรื่องคนอื่นมาเขียน พี่แทนเคยเล่าว่าเวลาแต่งเพลงสักเพลงหนึ่ง พี่แทนจะไม่ได้เล่าในมุมของพี่แทน แต่จะเล่าในมุมผู้หญิง

แทน: ใช่ การที่เรามองไปยังคนอื่นง่ายกว่าการที่จะเขียนเพลงเกี่ยวกับตัวเราเอง เพราะเราอยู่ตรงนี้เรามองตัวเองไม่ชัด แต่เวลามองอิ้งค์ เราก็จะชอบคิดว่าอิ้งค์เป็นคนอย่างไร รู้สึกอย่างไร แล้วดึงออกมาเขียน อย่างเพลงประกอบละครที่ผู้หญิงร้อง เราก็แต่งเยอะ ส่วนทำไมแต่งเพลงให้ผู้หญิงแล้วมีสัดส่วนที่ผ่านมากกว่าเพลงผู้ชาย ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน

วัตถุดิบหรือข้อมูลที่คุณใช้ในการแต่งเพลงมาจากแหล่งใดบ้าง
แทน:
สำหรับผมการเม้าท์เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเราจะได้รับข้อมูลจากศิลปินโดยตรง การที่เราไปอ่านหนังสือหรือดูหนังมันคือสเต็ป 2 หรือ 3 แล้ว ยิ่งวันไหนเพื่อนเราอกหักหรือมีรักที่ไม่สมหวัง พอเขาเล่าให้ฟัง เรายิ่งรู้สึกว่ามันมีเรื่องจี๊ดๆ ให้กลับมาเขียนเพลงเพียบเลย เรื่องราวความรักของแต่ละคนมีหลากหลายมาก ไม่มีทางซ้ำเลย แล้วมันก็คือเพลงจากชีวิตจริงของคนด้วย

การคุยเรื่องความรักซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว บางครั้งไม่ง่ายที่จะพูด มีวิธีอะไรที่ทำให้อิ้งค์ยอมเปิดใจคุยด้วย
อิ้งค์:
คือพี่แทนถามเลย เป็นอะไร ทำไมล่ะ ทั้งที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกๆ ตอนนั้นก็คิดในใจนะว่า เอ๊ะ ควรพูดหรือเปล่า แต่ก็รู้สึกว่า มันก็เป็นส่วนหนึ่งของงานนะ แต่การกล้าถามของพี่แทนทำให้เราสนิทกันง่ายขึ้น ซึ่งพี่แทนเขาก็เล่ามุมของเขาด้วย ไม่ใช่แค่เราคนเดียว ความรู้สึกจึงเหมือนการได้แลกเปลี่ยนกันมากกว่า

แทน: แต่ก็ไม่ใช่ว่าการคุยมากๆ จะทำให้ได้เพลงทุกครั้งนะ อย่างครั้งหนึ่งที่ผมเคยแต่งเพลงให้ ป๊อบ (ปองกูล สืบซึ้ง) คุยอยู่ 2 ชั่วโมง ป๊อบ input มาเยอะมาก ส่งหนังมาให้ ส่งอะไรมาหลายต่อหลายอย่าง แต่เหมือนมันไม่คลิกกับเราหรือเราคว้าไม่เจอก็ไม่รู้ สุดท้ายเลยใช้วิธีเขียนจากเรื่องจริงที่เราเจอ สุดท้ายป๊อบก็โอเคกับเพลง ถือว่าเราก็โชคดี ดังนั้นในการพูดคุยเพื่อทำเพลงจึงก็มีหลายเคส และไม่ใช่ว่าจะทำให้สำเร็จทุกครั้ง

สุดท้ายการสั่งสมประสบการณ์แต่งเพลงให้กับศิลปินมามากมาย ส่งผลให้เรารู้สึกอยู่มือกับงานนี้มากขึ้นมั้ย
แทน:
การทำเพลงสำหรับผมยังไม่มีคำว่าอยู่มือหรือว่ามีสูตรตายตัวแน่นอน โดยเฉพาะใน 2-3 ปี ให้หลังมา ผมสนุกกับการเขียนเพลงร่วมกับคนอื่นเยอะ ถ้าเราไปดูศิลปินจากที่ต่างๆ ทั่วโลก จะพบว่ามีการ featuring กันเยอะมาก หมดยุคของการทำทุกอย่างคนเดียวแล้ว

เราทำงานตรงนี้มาเป็น 10 ปี อยู่กับตัวเองมากๆ พอได้มาร่วมงานกับศิลปินคนอื่นๆ บ้าง ผมพบว่ามันสนุกขึ้นเยอะ
แม้แต่เพลงของลิปตา เดิมมีผมทำอยู่คนเดียว แต่พอ 4-5 ปี ให้หลัง จะนั่งเขียนกับคัตโตะตลอด เพลงก็จะมีสีสันจากคัตโตะเข้ามาด้วย การที่มี input อื่นๆ เข้ามา ทำให้ได้แชร์ความคิดกัน งานก็มีความหลากหลายมากขึ้น แม้กระทั่งอิ้งค์ที่ไม่เคยเขียนเพลงมาก่อน ผมก็ยังให้เขามาช่วยเขียนด้วยเลย ซึ่งเป็นอีกเพลงที่น่าจะได้ฟังกันต่อไป

***

Scroll to Top