โจ – หรินทร์ แพทรงไทย คือชายหนุ่มคนที่กำลังง่วนอยู่กับการทำงานบนจอสี่เหลี่ยม ในเอ็มวีเพลงล่าสุดของ อิ้งค์ วรันธร เปานิล ‘ฉันต้องคิดถึงเธอแบบไหน’ ชีวิตจริงของเขาคือ คนตัดต่อวิดีโอ สิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันคือ การจ้องมองผู้คนกระทำสิ่งต่างๆ บนหน้าจอ แต่ในวันหนึ่งเขาก็เปลี่ยนมาจ้องมองดูตัวเอง
คงเดช จาตุรันรัศมี ผู้กำกับเอ็มวีเพลงนี้ เป็นคนชักชวนโจมาแสดงในเอ็มวี การรับบทบาทที่เหมือนกับชีวิตประจำวัน ดูเหมือนจะง่าย แต่เมื่อต้องอยู่ต่อหน้ากล้อง โจพบว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเป็นงานเบื้องหน้าครั้งแรก บวกกับบุคลิกส่วนตัวที่เป็นคนพูดน้อย ค่อนข้างขี้อาย จึงทำให้รู้สึกประหม่าอยู่บ้าง
เมื่อเอ็มวีเสร็จสมบูรณ์ Boxx Music จึงอยากรู้เหลือเกินว่า เขารู้สึกกับเอ็มวีเพลงนี้แบบไหน และการทำงานที่ผ่านมาได้ให้อะไรกับเขาบ้าง
ความรู้สึกกับการทำงานเบื้องหน้าครั้งแรก
ตอนแสดงมันเหมือนว่า เราต้องนั่งทำงานโดยที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในเรื่องจริง มันจึงยากตรงที่เรารู้เรื่องทั้งหมดอยู่แล้ว แต่เราต้องทำเหมือนไม่รู้ แล้วจังหวะมันต้องเป๊ะ ตอนที่อิ้งค์หันมามองกับตอนที่เราเดินออกไป คือต้องทำเหมือนไม่รู้เลยว่าเขากำลังมองมา ตอนแรกก็เครียดนิดหน่อย กดดัน กลัวแสดงออกมาทางอารมณ์ไม่ได้ เวลาที่เราเป็นคนตัดต่อเรามองนักแสดง ดูว่าคนนี้เล่นเป็นยังไง แสดงออกมาแค่ไหน แต่พอมาเล่นจริงมันก็ยาก เพราะเรามัวจะคิดไปถึงตอนที่เราต้องตัดเพราะว่าเราก็ต้องตัดเองด้วย ว่าตรงนี้เราจะเอาช่วงไหนของเรามาใช้จริงๆ ได้หรือเปล่า ซึ่งมันก็กดดัน ตอนหลังต้องพยายามลืมๆ มันไป ที่สุดมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ
ระหว่างตัดต่อเอ็มวีแล้วต้องเห็นภาพตัวเอง มันให้ความรู้สึกแบบไหน
ดูตัวเองเล่นน่ะเหรอ มันก็ยากนะ ขำเหมือนกัน ก็จะมีความรู้สึกว่า เรากำลังมองตัวเองแล้วเราก็จะอาย ตามปกติเราตัดต่อภาพคนอื่นก็ไม่ได้คิดอะไรส่วนตัว แต่พอเป็นตัวเราเองก็จะมีแบบ เฮ้ย..ดูดีหรือยังวะ เฮ้ย..ทำไมเล่นอย่างนี้วะ แล้วเราก็จะนึกไปถึงตอนที่เล่นว่า ตอนนั้นเรากำลังคิดอะไรอยู่ อันนี้แม่งไม่เวิร์กเลยว่ะ แต่ตอนหลังก็พยายามลบตอนเล่นออกไป พยายามไม่คิดถึง เพราะมันจะทำให้เรามีอคติกับฟุตเทจ
เราสามารถแยกอารมณ์ได้ง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ
อาจจะเพราะว่าปกติผมทำงานตัดอยู่แล้วมั้งครับ สิ่งหนึ่งที่ทำตลอดเวลาตัดคือพยายามไม่อินไปกับสิ่งที่เกิดในโปรดักชั่นเพราะมันจะทำให้เรารู้สึกเสียดายฟุตเตจอันนี้ใช้เงินเยอะ อันนี้ใช้เงินน้อย เราจะไม่พยายามแคร์ตรงนั้น อันไหนดีเราก็จะใช้ อันไหนไม่ดีเราก็จะตัดออก คือมันต้องฝึกตรงนั้นมาตลอดอยู่แล้วในการทำงานก็เลยใช้เวลาไม่นานในการลบความรู้สึกตอนถ่ายออกไป
หลังจากดูเอ็มวีที่ตัวเองทั้งแสดงและตัดต่อแล้วรู้สึกชอบไหม
ก็ดีนะครับ ความยากอย่างหนึ่งของการตัดต่อเอ็มวีคือเพลง เพราะเพลงจะกำหนดจังหวะของการตัดเยอะ แต่สำหรับเพลงนี้เรารู้สึกว่าสตอรี่กับคอนเซปท์ที่พี่คงเดชให้มามันช่วยให้เราสามารถคิดลูกเล่น คิดไอเดียออกได้เยอะ เราจะรู้เลยว่าช่วงนี้เราจะเล่นกับอะไรได้บ้าง หรือช่วงนี้เราจะใส่ความรู้สึกของนางเอกบนจอได้เยอะ คิดว่าเพลงนี้มันสนุกตรงที่ เราสามารถใส่อารมณ์เข้าไปได้
กระบวนการทำงานของคุณ มันเหมือนกับศิลปินบางคนที่ต้องรออารมณ์ก่อนมั้ย
ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นยังไง แต่เวลาทำงานผมก็จะรู้สึกว่าผมเป็นศิลปิน ไม่ได้เป็นช่าง ก็เลยคิดว่าอารมณ์ของเราสำคัญเวลาทำงาน ถ้าเราไมได้รู้สึกพร้อมหรืออยากจะทำตอนนั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องของความขี้เกียจนะ มันคือเรื่องของความพร้อม ความรู้สึกของเราได้กับการทำงานหรือยัง ซึ่งถ้ายังเราก็จะไม่ฝืนตัวเอง ประสบการณ์ที่ผ่านมาบางทีงานมันก็แข่งกับเวลา บางทีเราจะมารอเราพร้อมอย่างเดียวก็ไม่ได้ บางทีมันก็ทำแบบนั้นบ้างนะ แต่สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาแก้สิ่งทีเราอยู่ดีเพราะพอมาดูแล้วมันก็ไม่เวิร์คจริงๆ
สุดท้ายแล้วงานตัดต่อ มันเป็นตัวตนของคุณหรือตัวตนของผู้กำกับ
ผมว่ามันมีตัวตนของเราอยู่แล้วครับ ไม่อย่างนั้นผู้กำกับคงไม่เลือก คนนี้อาจจะเลือกเพราะสไตล์ดี รสนิยมความชอบของเรากับเรื่องแอคติ้งมันก็มีผล แต่ว่าขั้นตอนแรกผมก็ต้องเข้าใจถึงเรื่องของบทแล้วก็ความรู้สึกของผู้กำกับที่เขาทำงานนั้นว่าเขาต้องการความรู้สึกแบบไหนมากกว่าแล้วก็ผสมกับความชอบของเราเข้าไปแล้วก็ตัดออกมา สุดท้ายก็ต้องมาบาลานซ์กับผู้กำกับอยู่ดี เพราะบางอย่างเราทดลองทำไปแล้วก็ลองเสนอดู ก็อยู่ที่ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบ
เนื่องจากการตัดต่อเป็นการทำงานที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับผู้กำกับ เวลาเลือกรับงานแต่ละชิ้น นิสัยของผู้กำกับมีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่
ไม่แน่ใจ เพราะว่าหลายคนที่ทำก็ไม่ใช่คนที่น่าจะสนิทด้วย ผมเป็นคนชอบทำงานกับผู้กำกับแบบมีระยะห่างประมาณนึง ผู้กำกับบางคนจะชอบให้มานั่งประกบตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มต้นการตัดเลย ซึ่งผมจะไม่ชอบแบบนั้น ผมจะชอบให้ผู้กำกับที่เขาปล่อยให้เราลองทำอะไรมาก่อนแล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาเบรนสตอร์ม หรือลงรายละเอียดกัน ผมชอบการให้พื้นที่ในการคิดงานก่อน ดังนั้นผู้กำกับที่อยากจะใกล้ชิดกับเรามากๆ เขาอาจจะไม่แฮปปี้เพราะผมจะมีระยะห่างนิดนึงในช่วงเริ่มต้น ผมคงเป็นคนไมได้ชอบสุงสิงกับคนมากด้วย ก็เลยไม่ได้ชอบระยะที่มันใกล้กันขนาดนั้น แต่พอทำไปแล้วถึงจุดที่ผมเข้าใจสไตล์ของผู้กำกับหรือเข้าใจสิ่งที่ผู้กำกับคิดแล้ว การเข้ามาทำงานร่วมกันแบบใกล้ชิดก็จะดี เพราะมันจะรู้ทางแล้วว่าเราจะทำงานร่วมกันแบบไหน
การทำงานในทุกวันนี้ให้อะไรกับชีวิต
มันก็คือการฝึกฝนเนอะ ความจริงก็ยังรู้สึกว่าอยากทำหนังตัวเองอยู่เหมือนกัน และการได้ตัดต่อหนังคนอื่นมันก็เหมือนฝึกตัวเองให้มองงานแบบนี้ได้ชัดเจนหรือมีประสบการณ์การกับมันมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าทุกงานที่ทำมันก็ทำให้เราเก่งขึ้นเรื่อยๆ เราไม่เคยตัดหนังผี พอมาตัดก็ได้เรียนรู้ว่าการตัดหนังแบบนี้มันควรจะต้องให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่า หรือบางทีการมองเรื่องแอคติ้งหรือการกำหนดจังหวะให้คนดูรู้สึกมันไมได้มีแบบเดียว บางทีเราคิดว่าแบบนี้มันดี แต่พอมาตัดจริงๆ มันไม่ดี พอมาแก้แล้วมันเวิร์คขึ้นจริงๆ แล้วเราไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรจากตรงนั้นได้เยอะ หรือการได้คุยกับผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ก็ช่วยทำให้เราได้เติบโตทางความคิดขึ้น
วันหนึ่งเราก็อาจจะได้เห็นหนังที่คุณเป็นผู้กำกับ
ก็หวังว่านะครับ (ยิ้ม)