คนรักผมเป็นโรคซึมเศร้า ควรทำอย่างไรครับหมอ?
นั่นสิ ผมควรจะทำอย่างไร ผมยังอยู่กับเขา บอกรักรักเขา กอดเขา เหมือนทุกครั้ง แต่เขายังรู้สึกไร้ค่า เดียวดายบนโลกใบกว้างนี้ทุกครั้ง ตอบปัญหาที่ค้างคาใจเกี่ยวกับ ‘โรคซึมเศร้า’ โดย หมอเอิ้น-แพทย์หญิงพิยะดา หาญชัยภูมิ จิตแพทย์สาวนักแต่งเพลงเบื้องหลังเพลงดังมากมาย
“เช็คอาการตัวเอง เช็คอาการคนรัก เช็คอาการคนใกล้ชิด ให้ดี
จงมีสติ จัดการความวิตกกังวลทั้งหมด และค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ทำความเข้าใจ”
ความรัก ความผิดหวัง เป็นสาเหตุหลักของความซึมเศร้าไหม?
ไม่ใช่เลยนะคะ จริงๆ ต้องแยกให้ได้ก่อนว่าความเศร้ากับโรคซึมเศร้าใกล้กัน แต่ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน ความเศร้าเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เราไม่สามารถปิดกั้นความผิดหวังหรือความทุกข์ได้
แต่โรคซึมเศร้าอารมณ์จะคล้ายกัน แต่สาเหตุจริงๆ ของโรคซึมเศร้าคือเป็นโรคของสมอง เป็นโรคของสาร เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งสารของความสุขต่ำก็ทำให้อารมณ์ของความเศร้ามันอยู่กับเราตลอดเวลา ต้องใช้คำว่าเกือบตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาวะปัจจัยอะไร ต่อให้มีคนมาพูด ต่อให้มีใครมาบอกว่าต้องเข้มแข็งนะ เขาก็ไม่ได้รู้สึกดีขึ้นเพราะว่ามันเป็นที่สมองเป็นที่สาร
แต่ถ้าถามว่าความผิดหวังความเสียใจมันเป็นเหตุกระตุ้นได้ไหม ใช่ มันเป็นเหตุกระตุ้นได้ สมองของเราจะเปลี่ยนแปลงได้ 2 อย่าง อย่างแรกคือ พันธุกรรม โรคซึมเศร้าถือว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งจะเป็นยีนส์ที่เราได้รับมาจากพ่อแม่อยู่แล้วหรือถ้าคนในครอบครัวที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ถ้าเรามีพันธุกรรมอยู่ ถ้าวันนึงที่เราป่วยหรือมีอะไรที่มันมากระตุ้นอาการของโรคซึมเศร้าก็จะปรากฏขึ้น สมองของเราก็จะเป็นสมองที่ซึมเศร้า
อย่างที่สองคือเราเปลี่ยนตัวเองนี่แหละ คือเราไปใช้สารอะไรที่มันทำให้สมองเราเป็นสมองที่ซึมเศร้าหรือเปล่า อย่างเช่นยาบางชนิด หรือสารเสพติด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรานำพาเข้าไปในตัว แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เรามีความทุกข์ที่เรื้อรัง มันเรื้อรังจนกระทั่งสมองเราเปลี่ยนไป
มีงานวิจัยบอกว่า ถ้าเราอยู่กับอะไรซ้ำๆ สัก 2 อาทิตย์มันจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสมอง ถ้าเราปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาวะซึมเศร้า ไม่กลับมาหาสาเหตุแล้วแก้ไขมัน อยู่กับมัน จมฝังกับมันนานๆ สมองของเราก็จะเปลี่ยนไป จากคนที่เป็นแค่ภาวะซึมเศร้าก็จะกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
ภาวะซึมเศร้ากับโรคซึมเศร้าต่างกันยังไง?
ภาวะเป็นช่วงอารมณ์ เป็นช่วงเวลานึงของความซึมเศร้า เช่น เราเลิกกับแฟนใหม่ๆ รู้สึกเหงา เศร้า พอเพื่อนชวนออกไปข้างนอก ช่วงเวลาที่ออกไปกับเพื่อนอาการนั้นหายไป แต่พอกลับมาอยู่คนเดียวก็เศร้าอีกแล้ว อันนี้เรียกว่าภาวะเศร้าคือมันยังขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่มากระตุ้นเรา เหตุปัจจัยที่มากระตุ้นคือการเคยมีคนอยู่ด้วยแล้วต้องอยู่คนเดียว แต่พอเหตุนั้นหายไปอารมณ์เศร้าก็หายไป แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าต่อให้แฟนนั่งอยู่ข้างๆ กอดอยู่เหมือนในเอ็มวี เขาไม่ได้รู้สึกเลยว่ามีคนนี้อยู่ เขาไม่ได้รู้สึกดีขึ้น ต่อให้แฟนบอกว่า เธอดีที่สุด เก่งที่สุด น่ารักที่สุด เขาก็จะรู้สึกว่า ฉันแย่ที่สุด ฉันไม่ดีที่สุด
โรคนี้เกิดขึ้นในช่วงวัยไหนเป็นพิเศษไหม?
ในวัยทำงานนี่แหละ เพราะเป็นวัยที่เราเจออะไรในชีวิตเยอะ ทั้งเรื่องของการงาน ความสัมพันธ์ การเงินครอบครัว เป็นช่วงวัยที่เราเจอปัญหาได้ในหลายๆ ด้านพร้อมกัน
มีวิธีสำรวจตัวเองและคนรอบข้างยังไงว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า?
หนึ่งคือพันธุกรรม แต่ก็ไม่ต้องไปเครียดกับมันมาก เพราะไม่ได้แปลว่าจะเป็นกันทุกคน
สองคือ เวลาที่เราเกิดอารมณ์เศร้ากับเหตุผลที่มันไม่สมเหตุสมผล แล้วมันเป็นอยู่นานจนเกินไป จมดิ่ง ต่อมาคือพอจมดิ่งแล้วมันเริ่มมีผลต่อการใช้ชีวิต อย่างการกิน ถ้าเราเครียดไม่กินเยอะก็ไม่กินไปเลย เริ่มกระทบการนอน นอนหลับยากและตื่นเร็ว เริ่มรบกวนการใช้ชีวิต รบกวนความสัมพันธ์รู้สึกว่าจิตใจมันเปราะบางเหลือเกิน เพื่อนมาพูดอะไรก็มีอารมณ์ไปหมด มันก็จะทำให้เราเสียเรื่องความสัมพันธ์ หรือกระทบเรื่องการงาน เริ่มรู้สึกว่าสมาธิหรือประสิทธิภาพในการทำงานเราเริ่มน้อยลง อันนี้ให้สังเกตจากในตัวเรา เรื่องการกิน การนอน เพื่อน การงาน
ถ้ามันเริ่มไปถึงการงานแปลว่าเราต้องรีบพบแพทย์แล้วล่ะ แต่ถ้าเป็นเรื่องการงานที่มันแรงมากนะ แต่ก็ต้องดูว่าเรื่องที่เราเศร้ามันสมเหตุสมผลไหม เช่นคนไข้พี่เอิ้นบางคน ผัวติดเหล้าเมาแล้วซ้อม ลูกขอแต่เงินไปซื้อยาบ้าไม่ได้ก็ซ้อม ถามว่าผู้หญิงคนนี้เขาเศร้าเขาจะผิดปกติไหม แบบนี้คือมันก็สมเหตุสมผล
ถ้าเรามีคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคนรักเป็นโรคซึมเศร้า เราควรรับมือกับเขายังไงดี?
การที่เราเห็นคนใกล้ชิดเราเป็นแล้วเราเป็นห่วง พี่เอิ้นอยากให้เราจัดการกับความกังวลกับความคิดตัวเองให้ได้ก่อน บางทีการที่เราเห็นแล้วเราตกใจ หรือเราอยากทำอะไรกับเขามากๆ มันจะทำให้เขายิ่งรู้สึกกดดัน ยิ่งรู้สึกแย่
คำว่าต้องเข้มแข็งสิ อย่าอ่อนแอ ต้องอดทนสิ ปล่อยวางสิ เรื่องแค่นี้เอง มันเป็นคำต้องห้ามเลยนะ เพราะถ้าเขาทำได้เขาทำไปนานแล้ว สิ่งที่คนไข้ต้องการที่สุดคือความเข้าใจ เพราะสาเหตุของมันเป็นเรื่องของสมองเป็นหลักซึ่งภาวะทางจิตใจเป็นตัวกระตุ้น ตอนนี้เราต้องยอมรับว่าสมองกับใจเราแป็นอันเดียวกัน อารมณ์ของคนเราถูกควบคุมโดยสมอง ความคิดดี คิดร้าย มันเกิดจากสมองก่อน แล้วความรู้สึกเราก็ตามเรามาจากความคิดของเรา ซึ่งถ้าเขาคิดได้เขาคิดไปนานแล้ว เขาก็อยากคิดนะแต่มันจะได้แค่เสี้ยววินาทีเดียวสิ่งเหล่านั้นมันหายไปเพราะเขาไม่สามารถฝืนธรรมชาติของความคิดของโรคซึมเศร้าได้
ความคิดของโรคซึมเศร้าคือ ตัวฉันไม่มีคุณค่า ฉันก็แย่ คนรอบข้างก็แย่ อนาคตก็ไม่มี ฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องการคือความเข้าใจ ซึ่งการพูดคุยก็เป็นทางออก แต่พี่คิดว่าการพูดกับคนเป็นโรคซึมเศร้าต้องเข้าใจเขามากพอสมควรเลยแหละ แล้วก็ต้องมีศิลปะในการพูดเพื่อที่จะโชว์ความเข้าใจของเราได้ ฉะนั้นการเป็นผู้ฟังที่ดีสำคัญที่สุด ฟังในความคิดความทุกข์ของเขา อยู่ข้างๆ แล้วก็โชว์ความรู้สึกว่าฉันเข้าใจเธอนะที่เธอเศร้า ฉันอยากช่วย ฉันอาจจะช่วยไม่ได้ก็ได้ แค่เราแสดงออกแค่นี้เขาก็มีกำลังใจแล้ว
“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของคนเป็นโรคซึมเศร้าคือความคิดฆ่าตัวตาย
ถ้าเรากลัวเขาฆ่าตัวตาย เราต้องมีสติก่อนว่าเรากลัวว่าเขาฆ่าตัวตาย
เราต้องกล้าถามเขาว่ามีความคิดนั้นไหม”
ถามได้เหรอ มันจะไม่จี้เขาหรือชี้นำเขาเหรอ?
ได้ค่ะ นี่ไงเป็นความคิดของคนปกติที่กลัวว่าจะไปชี้นำเขารึเปล่า จริงๆ ไม่ได้เป็นคำถามชี้นำนะคะ แต่เป็นคำถามที่เป็นการทำนายความคิดของเขา คือถ้าเราถามในขณะที่เขาคิดมันจะยิ่งดีมากเลย เหมือนเราชอบดูหมอดู เพราะหมอดูจะพูดในสิ่งที่เราคิด แล้วเราก็จะแฮปปี้
เช่นเดียวกันกับคนเป็นโรคซึมเศร้าจะรู้สึกว่าเธอรู้ได้ยังไง เธอเข้าใจฉันนี่ และเป็นประตูที่จะเปิดออกที่จะทำให้เขากล้าพูด กล้าระบาย แล้วการฆ่าตัวตายจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะคนฆ่าตัวตายมันมีความหมายนะ คือการหนีในจุดที่ตัวเองไม่มีทางออกแล้ว สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือแสงสว่าง หรือใครสักคนที่ยื่นมือเข้ามาหาเขาแล้วบอกฉันอยู่ข้างเธอนะ ยินดีที่จะรับฟังเธอนะ คำนี้เป็นคำถามสำคัญที่จะทำให้เราเปิดประตูใจของเขาอีกครั้ง แล้วเมื่อไหร่ที่ประตูใจเขาเปิด เขาแค่เล่าให้เราฟัง ตัดสินกันว่าแค่เขาเล่าเท่านั้นนะ อารมณ์ตรงนั้นมันจะดีขึ้นเลย
ทางออกของคนเป็นโรคซึมเศร้าคือการพบหมอเพื่อรักษาอย่างเดียวเลยไหม
พี่เอิ้นเชื่ออย่างนั้น เอาเป็นว่าพี่เอิ้นตอบในฐานะที่เรามีประสบการณ์ด้านนี้มา แล้วเราดูคนไข้มาเยอะ ถ้าอยู่ในระดับที่เป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ ไม่ทับซ้อนกับภาวะซึมเศร้านะ จำเป็นมากที่ต้องมาพบจิตแพทย์ แต่อย่างบางคนเป็นโรคซึมเศร้า แล้วไปสะกดจิต ไปพึ่งไสยศาสตร์ แล้วเขาดีขึ้น มันคือการปรับเปลี่ยนมุมมอง วิธีการคิด ความเชื่อ มันก็อาจจะทำให้รู้สึกดีขึ้นได้เหมือนกัน
คิดว่าความรู้สึกไหนของมนุษย์จะชนะโรคซึมเศร้าได้?
เมตตา ไม่รู้เรียกว่าความรู้สึกได้ไหม แต่การมีเมตตากับเขา มันไม่ใช่การยัดเยียด แต่มันคือการที่เราพร้อมให้คนคนนึงเขาเป็นอะไรก็ได้ เขารู้สึกอะไรก็ได้ เขาเศร้าก็ได้นะ เขาคิดจะฆ่าตัวตายก็ยังได้เลย เราอนุญาต เรายอมรับ แต่เราจะไม่ทิ้งเขาไปไหน มันจะช่วยเขาได้
ถามเผื่อคนที่มีคนใกล้ชิดที่มีทีท่าว่าเขาจะเป็นโรคซึมเศร้าและไม่ยอมไปหาหมอ พี่เอิ้นจะแนะนำเขาอย่างไร?
ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป เช็คอาการแล้วว่าเหมือนจริงๆ แต่ว่าไม่อยากไป แนะนำว่า ถ้างั้นก็อย่าไปเชื่อความคิดตัวเองในสภาวะนั้น เช่นเราไปเจอเหตุการณ์นี้แล้วทำให้เราคิดลบกับตัวเองมากก็อย่างไปเชื่อ อย่าไปเชื่อความคิดตัวเองแบบนั้น ให้รู้ตัวอยู่เสมอว่าความคิดฉันมันไม่ปกติ แค่เราตระหนักและเราไม่ไปอินกับมัน จงรับรู้ว่าตัวเองอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ
พี่เอิ้นอยากบอกคนใกล้ชิดคนเป็นโรคซึมเศร้าแล้วสุดท้ายตัดสินใจจบชีวิตด้วยเองบ้าง จะให้กำลังใจคนที่อยู่ยังไง?
จริงๆ สิ่งที่คนที่อยู่จะรู้สึกแย่ก็คือ ความค้างคาใจ ค้างคาใจว่าเราทำอะไรได้ดีกว่านี้ไหม ค้างคาใจว่าเรามีส่วนหรือมีสาเหตุรึเปล่าที่ทำให้เขาต้องฆ่าตัวตาย ถ้าเราเป็นคนที่ใกล้ชิด สนิทพอที่จะบอกคนที่สูญเสียได้ พี่เอิ้นคิดว่าให้เขาได้ระบายในสิ่งที่เขาค้างคาใจนั่นแหละ มีอะไรค้างคาใจจากการที่คนที่เรารักจากไปไหน มีอะไรที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจไหม รับฟังเขา สิ่งสำคัญคือการรับฟัง แล้วก็ใคร่ครวญในสิ่งที่ฟัง อย่าเพิ่งกระโดดไปให้กำลังใจ บางที่คนที่อยู่เค้าไม่ได้ต้องการ บางทีเขารู้อยู่แล้วว่าเราจะพูดอะไรนะ ฉะนั้นการรับฟังเขาและไม่ตัดสินในสิ่งที่เขาพูดมันผิดหรือมันถูก มันช่วยได้เยอะเลย อีกสิ่งหนึ่งคือเราต้องสื่อสารให้เขารู้ว่า เขาได้ทำดีที่สุดแล้ว ถ้าเขารู้ว่าคนรักจะฆ่าตัวตาย ใครบ้างจะไม่ไปห้าม ไม่ไปช่วย แต่เราไม่ใช่คนที่จะรู้อนาคตได้ คุณที่ทำในสิ่งที่ดีที่สุดแล้วในตอนนั้นเท่าที่คุณจะทำได้